Taste of Japan

ประวัติข้าวกล่องเบนโตญี่ปุ่น “เสิร์ฟ” ด้วยรักและห่วงใย

ภาพถ่าย: มาเกวัปปะ ซึ่งทำจากไม้ไซปรัสและไม้ซีดาร์ขึ้นรูป จะรักษาความสดและรสชาติของอาหารด้วยการดูดซับความชื้นส่วนเกินพร้อมทั้งรักษาความชื้นในภาชนะไว้ในระดับหนึ่ง © AussieFoods/amanaimages

คำว่า “เบนโต” ได้กลายเป็นคำที่แทบจะเป็นคำศัพท์สากล เนื่องจากความนิยมอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ ในที่นี้ เราจะย้อนกลับไปดูประวัติของเบนโต รวมทั้งเบนโตในรูปแบบต่าง ๆ ที่เสิร์ฟให้ในสถานการณ์และโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่เบนโตทำเองไปจนกระทั่งโชกาโดเบนโตแบบคลาสสิกที่ใช้เสิร์ฟเพื่อต้อนรับแขก

เบนโตเป็นอาหารที่นำติดตัวไปรับประทานนอกบ้านได้ หนังสือประวัติศาสตร์ที่เรียบเรียงขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 แสดงให้เห็นว่าผู้คนจะนำโฮชิอิ ติดตัวไปด้วยในระหว่างเดินทาง โฮชิอิ หมายถึง ข้าวสวยที่ตากแดดจนแห้ง มีน้ำหนักเบา ประหยัดพื้นที่ เก็บง่าย และสามารถรับประทานได้ทันที หรือไม่ก็แช่น้ำเย็นหรือลวกในน้ำร้อนก็ได้ โฮชิอิ เป็นอาหารพกพาชั้นเยี่ยม และถือได้เป็นเบนโตที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น โฮชิอิ ยังคงเป็นอาหารพกพายอดนิยมมาอย่างยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 กล่าวกันว่าสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 20 ปี และแม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังมีการใช้อยู่ในคลังอาหารในยามภัยพิบัติ

โฮชิอิ หรือข้าวสวยตากแห้ง ถูกใช้เป็นอาหารพกพาในระหว่างเดินทาง เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย : สถาบันวิจัย “โคเมะ (ข้าว)” Plenus

ชาวญี่ปุ่นมักรับประทานอาหารเพียงวันละ 2 มื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเย็น โดยไม่รับประทานอาหารกลางวัน มาจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 17 การเปลี่ยนมารับประทานอาหารวันละ 3 มื้อเกิดขึ้นในช่วงกลางสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1600-1868) คือ ประมาณต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อตะเกียงน้ำมันก๊าดเป็นที่แพร่หลาย มีไฟสว่างในเวลากลางคืน ผู้คนจึงมีระยะเวลาในยามตื่นและเวลาทำกิจกรรมยาวนานขึ้นมาก เมื่อชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นและสถานที่ทำงานขยายบริเวณกว้างขึ้น ผู้คนจึงเริ่มนำเบนโตของตัวเองติดตัวไปทำงานด้วย

ชาวนานำอาหารต่าง ๆ เช่น ข้าวบาร์เลย์และบ๊วยดอง ใส่ลงใน เม็นปะ หรือภาชนะทรงโค้งที่ทำจากไม้ แล้วนำติดตัวไปทำงาน ภาชนะเหล่านี้ดูดซับความชื้นและระบายอากาศได้ดีเยี่ยม จึงช่วยรักษาให้อาหารสดและอร่อยอยู่แม้อาหารจะเย็นลงแล้ว สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านที่ต้องมาทำงานร่วมกันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน เช่น การปลูกข้าว ผู้คนมักนำ โอเกะ ขนาดใหญ่ (ถังไม้แบบญี่ปุ่นดั้งเดิม) ที่เต็มไปด้วยข้าวปั้นและ โอกาสึ (กับข้าวแบบญี่ปุ่น) โดยทุกคนจะมารับประทานด้วยกัน ชาวประมงที่ทำงานในทะเลจะนำข้าวจำนวน 7 โก (ถ้วยตวงญี่ปุ่น หรือประมาณ 180 มิลลิลิตร) ใส่ใน ฟูนาเบนโต ซึ่งเป็นภาชนะทรงอ่าง 2 ชั้นที่ทำจากต้นไซปรัสญี่ปุน ซึ่ง โอกาสึ ในกรณีนี้ ก็คือ ปลาที่พวกเขาจับได้ การทำงานของชาวประมงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและเต็มไปด้วยอันตราย ในความเป็นจริงแล้ว ภาชนะ ฟูนาเบนโต ยังทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ลอยน้ำช่วยชีวิตเมื่อชาวประมงตกลงไปในทะเลเนื่องจาก ชิเกะ (คลื่นแรง) หรือพายุไต้ฝุ่น และเป็นเครื่องมือในการตักน้ำออกเมื่อน้ำเข้าเรือ การตัดไม้ของคนตัดไม้ที่ทำงานบนภูเขาก็เป็นงานที่ยากเย็นแสนเข็ญเช่นกัน คนตัดไม้ใส่จะนำข้าวใส่ที่ตัวภาชนะและที่ฝาของ เม็นปะ อย่างละ 5 โก รวมเป็น 1 โช (ประมาณ 1.8 ลิตร) แล้วนำติดตัวไปทำงานด้วย นายพรานที่เรียกว่า มาตางิ ซึ่งล่าหมีบนภูเขาในฤดูหนาว จะนำอาหารพิเศษที่เรียกว่า คาเนโมจิ ติดตัวไปด้วย คาเนโมจิ เป็นโมจิที่ทำจากพืชในธรรมชาติบางชนิดซึ่งจะไม่แข็งตัวแม้จะเป็นอากาศหนาวจัดบนภูเขาในฤดูหนาว ซึ่งต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหลายสิบองศา อาหารพกพานี้ช่วยให้นายพรานเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้เมื่อแหล่งอาหารอื่นหมดลง

อย่างไรก็ตาม บทบาทของเบนโตไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องการเติมพลังงานให้กับคนทำงานเท่านั้น เบนโตยังเป็นสิ่งที่นำความสุขมาสู่ผู้คนในโอกาสพิเศษ หนึ่งในวาระโอกาสนั้น ก็คือ ฮานามิ ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีที่ชาวญี่ปุ่นตั้งตารอทุกปี ฮานามิ เป็นธรรมเนียมของญี่ปุ่นที่ผู้คนจะชมและชื่นชมดอกซากุระ ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยเฮอันในรูปแบบที่เป็นการพักผ่อนในหมู่ขุนนางและซามูไร ในช่วงกลางสมัยเอโดะ ธรรมเนียมนี้ก็เริ่มแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปด้วยเช่นกัน ในตอนต้นของศตวรรษที่ 18 โชกุนได้ปลูกต้นซากุระจำนวนมากทั่วทั้งเมืองเอโดะ (ชื่อเดิมของโตเกียว) ทำให้ผู้คนสามารถเพลิดเพลินไปกับดอกซากุระที่เจริญเติบโตเป็นกลุ่มโดยรอบบริเวณ เมื่อมีการส่งเสริมธรรมเนียม ฮานามิ ผู้คนจึงพากันออกไปเป็นกลุ่มเพื่อชมต้นซากุระที่บานสะพรั่ง ผู้คนจัดงานเลี้ยงใต้ต้นไม้ พักผ่อน ดื่ม และรับประทานอาหารด้วยกัน ไฮไลต์ของงานเลี้ยงเหล่านี้ ก็คือ เบนโต ผู้คนจะนำอาหารใส่ลงใน จูบาโกะ (ภาชนะใส่อาหารญี่ปุ่นเป็นชั้น ๆ) จนอัดแน่นไปด้วยของอร่อย ๆ เพื่อให้ทุกคนได้รับประทาน และนำติดตัวไปด้วย ซึ่งเรียกว่า ฮานามิเบนโต โดยจะมีการจัดแต่งออกแบบมาให้ชมหรือ "โชว์" กันในกลุ่ม จะพิถีพิถันเป็นพิเศษทั้งเรื่องสีสรร การตกแต่ง เทคนิคการเตรียม รสชาติ และอื่น ๆ เป็นพิเศษ และก็เกิดมี ซาเงจู หรือ จูบาโกะ ที่มีหูหิ้วด้านบนขึ้น ทำให้ผู้คนพกพาเบนโตต่าง ๆ เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ตามเดิมนั้น ซาเงจู จะใช้เป็นภาชนะสำหรับ โนเบนโต (ข้าวกล่องปิกนิก) ของขุนนางและเจ้าเมืองระหว่างการออกไปพักผ่อนหย่อนใจนอกสถานที่ ดังนั้นจึงมีทั้ง จูบาโกะ ถ้วยสาเก และจานเสิร์ฟรวมกันอยู่ด้านใน และได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของสมัยเอโดะ ซึ่งซาเงจู ที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

ซาเงจู วิวัฒนาการมาจาก โนเบนโต ที่ขุนนางและเจ้าเมืองใช้สำหรับ ฮานามิ พื้นผิวของ เซเงจู ได้รับการตกแต่งอย่างประณีตงดงาม © Alamy /amanaimages

คาบูกิ* เป็นรูปแบบความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่คนทั่วไปในสมัยเอโดะ การชมละครคาบูกิเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาตลอดทั้งวัน โดยเริ่มต้นในตอนเช้าและจบลงในตอนเย็น ผู้ที่ไปชมละครคาบูกิจะใช้เวลาทั้งวันอย่างเพลิดเพลิน ทั้งรับประทาน ดื่ม และพูดคุยกันในกลุ่มของตน ค่าเข้าชมจะรวมค่าอาหารและเครื่องดื่มไว้แล้ว โดยจะมีเบนโตเสิร์ฟให้บริการระหว่างช่วงพักในแต่ละช่วงของการแสดง เบนโตเหล่านี้จะประกอบด้วย ยากิโอนิกิริ (ข้าวปั้นย่าง) คามาโบโกะ (ทอดมันปลาแบบญี่ปุ่น) และ นิโมโนะ (กับข้าวแบบต้ม) ซึ่งเรียกว่า มากูโนอูจิเบนโต เบนโตที่มีข้าวขาวและกับข้าวอยู่ในภาชนะเดียวกันแบบนี้ยังคงเป็นรูปแบบหลักของเบนโตในปัจจุบัน

* รูปแบบการแสดงละครแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่พัฒนาขึ้นในสมัยเอโดะ ละครคาบูกิหลายเรื่องอิงจากเรื่องราวหรือละครทางประวัติศาสตร์ มีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันตาม คาตะ (รูปแบบการแสดงสีหน้าท่าทาง) เครื่องแต่งกายที่มีสีสัน และอื่น ๆ

ลักษณะเด่นของมากูโนอูจิเบนโตในสมัยเอโดะ คือ ข้าวขาว ที่มาพร้อมกับกับข้าวอย่าง ทามาโงยากิ (ไข่เจียวม้วนญี่ปุ่น) คามาโบโกะ (ทอดมันปลาแบบญี่ปุ่น) และ นิโมโนะ (กับข้าวแบบต้ม) เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย : สถาบันวิจัย “โคเมะ (ข้าว)” Plenus

ปี 1872 (ปีเมจิที่ 5) มีการก่อสร้างทางรถไฟขึ้น แม้ว่ารถไฟจะเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวก แต่ก็ยังค่อนข้างช้า การเดินทางจากอูเอโนะไปยังพื้นที่อูสึโนมิยะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง จึงเป็นผลให้ เอกิเบน คือ เบนโตที่ผู้โดยสารสามารถนำขึ้นรถไฟไปด้วยได้ เอกิเบน ในญี่ปุ่นถูกจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่สถานีอูสึโนมิยะในปี 1885 (ปีเมจิที่ 18) ซึ่งมีข้าวปั้น 2 ก้อน และ ทากูอัน (หัวไชเท้าดอง) 2 ชิ้นที่ห่อด้วยเยื่อไม้ไผ่ ระบบรถไฟของญี่ปุ่นค่อย ๆ ขยายไปทั่วประเทศ และการจำหน่าย เอกิเบน ก็ขยายตัวตามไปด้วย ในสมัยแรก ๆ เอกิเบน ส่วนใหญ่จะมีข้าวปั้น แซนด์วิช และอาหารที่รับประทานง่ายอื่น ๆ แต่ตั้งแต่กลางสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) ก็เริ่มมีการจำหน่าย เอกิเบน ในรูปแบบของมากูโนอูจิเบนโตที่บรรจุมาในกล่องที่ทำจากไม้บาง ๆ เนื่องจากอาหารในเบนโตเหล่านี้มักจะเหมือนกันทั่วประเทศ จุดสนใจจึงอยู่ที่ คาเกงามิ หรือกระดาษห่อที่วางบนกล่องเพื่อให้เบนโตมีกลิ่นอายตามภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ คาเกงามิ จำนวนมากที่ผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีการสร้างสีสันด้วยการออกแบบที่สวยงามที่สื่อถึงวัฒนธรรมตามภูมิภาค วิธีคิดและความใส่ใจในการออกแบบ คาเกงามิ เหล่านี้ ที่จะถูกแกะและทิ้งไปเมื่อจะรับประทานเบนโตจริง ๆ ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงสุนทรียภาพที่โดดเด่นของญี่ปุ่น เอกิเบน ที่ทำจากวัตถุดิบพิเศษในท้องถิ่นเริ่มปรากฏขึ้นในราวปี 1897 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรม เอกิเบน ที่โดดเด่นของญี่ปุ่น ผู้คนจะเพลิดเพลินกับอาหารท้องถิ่นพร้อมกับชื่นชมทัศนียภาพต่าง ๆ ผ่านหน้าต่างรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ มี ไทเมชิ (ข้าวหน้าปลาไท) ที่สถานีชิซูโอกะ มี ชูไมเบนโต (เบนโตเกี๊ยวจีน) ที่สถานีโยโกฮามะ มี อิกาเมชิ (ปลาหมึกยัดข้าว) ที่สถานีฮาโกดาเตะ... ปัจจุบันในญี่ปุ่นมี เอกิเบน ชนิดต่าง ๆ มากกว่า 3,500 ชนิด

เสน่ห์น่าดึงดูดอีกอย่างของ เอกิเบน คือภาชนะบรรจุ กล่องเบนโตที่ใช้สำหรับ เอกิเบน ไม่นอกจากคุณสมบัติการใช้งานอย่างดีเยี่ยม เช่น ในแง่ของการเก็บความร้อน เป็นต้น กล่องเหล่านี้ยังผลิตขึ้นโดยคำนึงถึงการออกแบบและความสวยงาม และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น “โทเงะ โนะ คามาเมชิ” ที่สถานีโยโกกาวะในจังหวัดกุนมะ ซึ่งจัดเตรียมอยู่ในหม้อดินเผา, “มาซูโนซูชิ” ที่สถานีโทยามะ ซึ่งจัดเตรียมอยู่ในถังไม้ที่ห่อด้วยใบไผ่, “ซันอิน ทตโทริ คานิเมชิ” ที่สถานีทตโตริ ซึ่งจัดเตรียมอยู่ในภาชนะพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายทางชีวภาพได้ และ “คูโรเงะ วากิว โมตาโรเบนโต” ที่สถานีมัตสึซากะในจังหวัดมิเอะ ซึ่งจะมีกล่องดนตรีเล่นทำนองเพลงเมื่อเปิดฝา ทุกวันนี้ เอกิเบน ได้รับความสนใจอย่างมากแม้ในต่างประเทศในฐานะที่เป็นรูปแบบวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นที่โดดเด่นและสวยงาม

โชกาโดเบนโตที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นสมัยโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) ได้เป็นผู้ปฏิวัติวงการเบนโต โดยเปลี่ยนเบนโตที่แต่เดิมเคยเป็นอาหารแบบพกพาสำหรับรับประทานในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นอาหารสำหรับ โมเตนาชิ (การต้อนรับแขกแบบญี่ปุ่น) โชกาโดเบนโตจะประกอบด้วยกล่องสี่เหลี่ยมเคลือบเงาที่มีฝาครอบสีดำ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยแต่ละส่วนจะใส่อาหารต่างชนิดกัน การออกแบบที่มีลักษณะเฉพาะนี้ช่วยให้สามารถเสิร์ฟอาหารร้อนและเย็นพร้อมกันได้ เนื่องจากรสชาติและสีสันของอาหารต่างชนิดกันจะจัดเตรียมเก็บไว้แยกกันได้ เป็นต้น กล่องเบนโตนี้จะมี ไคเซกิ คือ อาหารต้อนรับแขกแบบ โมเตนาชิ ดั้งเดิมที่ใช้เสิร์ฟในพิธีชงชาบรรจุอยู่เต็มกล่อง ซึ่งเชฟเทอิจิ ยูกิ เป็นผู้คิดค้นเบนโตประเภทนี้ขึ้นมา เชฟยูกิยังเป็นปรมาจารย์ด้านพิธีชงชาด้วย จึงได้ใช้จิตวิญญาณของพิธีชงชามาคิดค้นอุปกรณ์ปรุงและเสิร์ฟอาหารที่ใช้ในเบนโต แล้วนำมาเสิร์ฟในพิธีชงชาจนได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก การกระทำของเชฟยูกิจึงเป็นการนำสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงอาหารพกพามาใช้เสิร์ฟในบรรยากาศของการต้อนรับแขกแบบ โมเตนาชิ ดังนั้นโชกาโดเบนโตจึงถูกอัดแน่นไปด้วยจิตวิญญาณของ โมเตนาชิ คือ ความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะมอบประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยคุณภาพ และเทคนิคการปรุงอาหารอย่างหลากหลายอยู่ในนั้น เชฟยูกิมีความปรารถนาที่จะให้ครัวเรือนญี่ปุ่นเปิดรับโชกาโดเบนโตเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้คนที่สามารถลิ้มรสโชกาโดเบนโตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ความปรารถนานี้กลายเป็นจริงแล้ว โชกาโดเบนโตไม่ได้ถูกเสิร์ฟเพียงแต่ในพิธีชงชาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงไปถึงในร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแห่งที่ได้สืบทอดประเพณีดังกล่าวมาด้วย จึงทำให้มีการเสิร์ฟในบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบอาหารสำหรับ โมเตนาชิ ที่สามารถรับประทานได้อย่างสบาย ๆ เป็นกันเอง เนื่องจากเป็นการเสิร์ฟในรูปแบบเฉพาะที่เป็นเบนโตนั่นเอง

โชกาโดเบนโตเป็นเบนโตประเภทหนึ่งที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน และมีอาหารจานเล็ก ๆ หลากสีสันวางอยู่ในแต่ละส่วน กล่องเบนโตประเภทนี้ทำให้สามารถเสิร์ฟอาหารที่เป็นน้ำ อาหารเย็น และอาหารร้อนด้วยกันได้มากขึ้น ภาพถ่ายของ “KICHI ร้านโชกาโดเบนโตกล่อง” © Kyoto Kitcho

ปลายทศวรรษที่ 1990 ได้มีการเกิดขึ้นของ เคียระเบน ซึ่งเป็นเบนโตทำเองประเภทหนึ่ง เคียระเบน (เบนโตตัวคาแร็กเตอร์) เป็นเบนโตประเภทหนึ่งที่จะใช้เบนโตเป็น "ผ้าใบวาดภาพ" เพื่อวาดภาพตัวคาแร็กเตอร์ในสื่อที่กำลังนิยม ตั้งแต่ตัวคาแร็กเตอร์หลักในอนิเมะไปจนกระทั่งสัตว์ พืช และอื่น ๆ โดยใช้วัตถุดิบต่าง ๆ หลากหลาย เคียระเบน เกิดขึ้นจากความต้องการของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่อยากให้ลูก ๆ เพลิดเพลินกับเบนโตในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อ เคียระเบน กลายเป็นเบนโตที่มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนก็เริ่มโพสต์ภาพถ่ายและสูตร เคียระเบน ของตนเองลงบนบล็อกที่เพิ่งได้รับความนิยมเมื่อเร็ว ๆ นี้ จนมี เคียระเบน สำหรับผู้ใหญ่ และแม้กระทั่ง เคียระเบน ในเชิงงานศิลปะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง เคียระเบน จึงได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการทำเบนโตจากสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้กลายมาเป็นสิ่งที่คล้ายงานอดิเรกที่ทำด้วยความสุขและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

เคียระเบน ที่มีข้าวปั้น โนริ (สาหร่ายแห้ง) ไส้กรอก และ อูซูยากิทามาโงะ (ไข่เจียวแผ่นบางแบบญี่ปุ่น) ที่เป็นรูปสัตว์ มีแครอทรูปดาวและบร็อคโคลี่แต่งสีสัน © Photolibrary

เมื่อมองย้อนกลับไปที่ประวัติของเบนโต จะเห็นได้ชัดว่าเบนโตเป็นผลมาจากภูมิปัญญาและความเฉลียวฉลาดจากรุ่นสู่รุ่น เบนโตสื่อให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะให้ผู้คนรับประทานได้อย่างปลอดภัย และความคาดหวังว่าผู้ที่รับประทานจะเพลิดเพลินไปกับมื้ออาหารของตนเอง ความงามของเบนโตยังสื่อให้เห็นถึงความละเอียดละไมและสุนทรียภาพอันโดดเด่นในแบบญี่ปุ่น อาจกล่าวได้แม้กระทั่งว่าเบนโตเป็นรูปแบบหนึ่งในการสื่อสารเชื่อมโยงจิตวิญญาณของผู้คนเข้าด้วยกัน

มาลองทำเบนโตสไตล์ญี่ปุ่นกัน !

ในการทำเบนโตแบบทำเอง สิ่งที่เป็นมาตรฐานทั่วไป คือ ข้าว พร้อมกับ โอกาสึ (กับข้าวแบบญี่ปุ่น) อย่างน้อย 3 อย่าง ในการจัดเตรียม โอกาสึ ให้มีความสมดุลกัน เราควรมี โอกาสึ หลัก 1 อย่างที่ทำจากเนื้อสัตว์หรือปลา และกับข้าวเสริมอีก 2 อย่างที่ทำจากผัก ไข่ และ/หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อปลา เนื่องจากเรามักรับประทานเบนโตหลังจากที่จัดเตรียมเสร็จไปแล้วหลายชั่วโมง เนื้อสัตว์ ปลา หรือไข่ที่อยู่ในเบนโตจึงควรปรุงให้สุกทั่วถึง การปรุงรสอาหารเหล่านี้เป็นอย่างดีจะช่วยป้องกันไม่ให้อาหารเสีย เคล็ดลับในการนำอาหารใส่ลงในกล่องเบนโต คือ ใส่ข้าวก่อน จากนั้นใส่กับข้าวขนาดใหญ่ที่เป็น โอกาสึ หลัก แล้วใส่กับข้าวเสริมอื่น ๆ โดยรอบ การทำให้เบนโตดูสวยงานเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการทำ และการทำให้มีสีสันเป็นสีแดง เขียว และ/หรือเหลืองจะช่วยให้เบนโตดูสดใสยิ่งขึ้น อีกทั้งโปรดอย่าลืมทำให้อาหารในเบนโตเย็นสนิทก่อนปิดฝาเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารเหนียวเหนอะจากความชื้น

แซนด์วิชข้าวใส่บ๊วยและปลาซาร์ดีนเล็ก
สูตรอาหารที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับทำข้าวปั้นที่เป็นอาหารหลักของญี่ปุ่นโดยไม่ต้องปั้น
https://tasteofjapan.maff.go.jp/th/recipes/detail/74.html

คาราอาเงะ (ไก่ทอด)
โอกาสึ (กับข้าวแบบญี่ปุ่น) ที่เป็นกับข้าวหลักในเบนโตที่ทุกคนชื่นชอบ
https://tasteofjapan.maff.go.jp/th/recipes/detail/21.html

ปลาค็อดย่างปรุงรสมิโสะ
เมนูอาหารที่ปรุงรสเป็นอย่างดี และเก็บไว้ได้นาน
https://tasteofjapan.maff.go.jp/th/recipes/detail/75.html

ไข่เจียวม้วนญี่ปุ่น
เพลิดเพลินเนื้อนุ่ม ๆ ของไข่เจียว และรสชาติหอมอร่อยของน้ำซุป
https://tasteofjapan.maff.go.jp/th/recipes/detail/19.html

แหล่งที่มา : วัฒนธรรมเบนโตญี่ปุ่น : จักรวาลน้อย ๆ แห่งปัญญาและสุนทรียศาสตร์ (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโฮเซ), มิเอโกะ กอนได

แชร์บทความนี้