

มันเทศจากมิยาซากิถูกจัดส่งไปยังทั่วโลก ความหวานและเนื้อสัมผัสที่มีความหลากหลาย ทำให้เป็นสิ่งที่น่าหลงใหล !
เขตคิวชูตอนใต้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดินเถ้าภูเขาไฟที่สามารถระบายน้ำได้ดีจึงเหมาะแก่การปลูกมันเทศ เมืองคูชิมะที่อยู่ปลายสุดทางใต้ของจังหวัดมิยาซากิที่อยู่ในภูมิภาคนี้จึงขึ้นชื่อเรื่องผลผลิตมันเทศมาอย่างช้านาน เมืองคูชิมะเป็นที่ตั้งของฟาร์มคูชิมะอาโออิ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทด้านการเกษตรชั้นนำของญี่ปุ่นในด้านการขนส่งและการส่งออกในแต่ละปี บริษัทให้ความสำคัญกับการส่งออกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโดยประธานบริษัท คุณโยซูเกะ นาราซาโกะ ปรารถนาให้ทั่วโลกได้สัมผัสถึงความอร่อยของมันเทศญี่ปุ่น ณ ที่นี่ ท่านประธานได้เล่าให้เราฟังถึงความคิดริเริ่มมากมายที่กำลังดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

ฟาร์มคูชิมะอาโออิครอบคลุมพื้นที่ 45 เฮกตาร์ (ประมาณ 281 ไร่) พื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่หาได้ยากในพื้นที่เนินเขาของเมืองคูชิมะ แต่ฟาร์มคูชิมะอาโออิได้ทำสัญญากับเกษตรกรหลายรายเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตที่สามารถจัดการได้
มันเทศในคำภาษาญี่ปุ่น คือ ซัตสึมะอิโมะ ซัตสึมะ เป็นชื่อเดิมของคาโงชิมะ (จังหวัดที่อยู่ติดกับมิยาซากิ) และ อิโมะ แปลว่ามันฝรั่ง กล่าวกันว่าแต่เดิมนั้นมีการนำเข้าจากประเทศจีนมาที่คาโงชิมะผ่านทางโอกินาวะในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เขตคิวชูตอนใต้รวมถึงพื้นที่คาโงชิมะและมิยาซากิเป็นหนึ่งในผู้ผลิตมันเทศชั้นนำของญี่ปุ่น เนื่องจากมันเทศชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดีซึ่งในภูมิภาคดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากเถ้าถ่านและก้อนกรวดจากการปะทุของภูเขาไฟในยุคโบราณ ฟาร์มคูชิมะอาโออิได้พัฒนาปรับปรุงดินดังกล่าวเพิ่มเติมโดยการเปลี่ยนผิวดินสีดำด้วยดินสีแดงใต้ดิน ดินที่ถูกปรับเรียกว่า อากาโฮยะ ซึงเหมาะสำรับการเพาะปลูกเพราะมีศัตรูพืชที่เกิดตามธรรมชาติน้อยกว่า
คุณโยซูเกะ นาราซาโกะ ประธานบริษัทของฟาร์มคูชิมะอาโออิ ซึ่งเป็นกิจการด้านเกษตรกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในเมืองคูชิมะจังหวัดมิยาซากิ แต่เดิมประธานบริษัทเป็นชาวไร่มันเทศซึ่งได้ก่อตั้งบริษัทด้านการเกษตรในปี 2013 เพื่อลงมือท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ ฟาร์มคูชิมะอาโออิได้ดึงดูดคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีแรงบันดาลใจอันเปื่ยมล้นด้วยแนวคิดอันยิ่งใหญ่ในการส่งมอบความอร่อยของมันเทศญี่ปุ่นไปทั่วโลก คุณนาราซาโกะเป็นเพียงหนึ่งในคนเหล่านั้น

คุณนาราซาโกะเคยทำงานให้กับบริษัทการค้าที่ส่งออกมันเทศ พนักงานหลายคนในฟาร์มคูชิมะอาโออิไม่ได้มาจากพื้นที่ท้องถิ่น โดยพนักงานมีอายุเฉลี่ย 33 ปีซึ่งเป็นอายุที่น้อยกว่าปกติสำหรับบริษัทผลิตผลทางการเกษตร
"การค้นคว้าวิจัยภาคสนามเปิดเผยว่าผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชอบนึ่งมันเทศในหม้อหุงข้าวดังนั้นพวกเขาจึงชอบมันเทศที่มีขนาดเล็กกว่า" คุณนาราซาโกะอธิบาย "เรายังพบว่าลูกค้าในท้องถิ่นจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถกินมันเทศขนาดใหญ่ได้ทั้งหัว ผลผลิตที่มีขนาดเล็กกว่ามักจะถูกทิ้งเนื่องจากผู้ผลิตเชื่อว่าน่าจะขายไม่ได้ ดังนั้นผมจึงคิดว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา"
บริษัทได้พัฒนาวิธีการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ "การปลูกแบบหนาแน่นบนคันนาเล็ก" เพื่อปลูกมันเทศขนาดเล็กกว่าสำหรับการส่งออก การลดจำนวนช่องว่างระหว่างต้นกล้าและแถวบนเนินทำให้สามารถเก็บเกี่ยวมันฝรั่งขนาดเล็กจำนวนมากได้

มันเทศจำนวนมากผลิใบเป็นทิวแถวหนาแน่น ความต้องการขนาดที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นตามการขยายช่องทางการขาย ดังนั้นวิธีการเช่นนี้จึงไม่มีการดำเนินการต่อ
บริษัทได้ส่งเสริมระบบการผลิตที่มั่นคงโดยการเพิ่มจำนวนเกษตรกรคู่สัญญาที่เห็นด้วยกับข้อตกลง ปัจจุบันได้ทำสัญญากับเกษตรกรประมาณ 230 ราย และจัดการผลผลิต 8,200 ตันต่อปี โดยมีการส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นหนึ่งในบริษัทด้านการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งจุดแข็งของบริษัทอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าไม่เพียงแต่จัดการด้านการผลิตเท่านั้นแต่ยังรวมถึงกระบวนการแปรรูปและการจำหน่ายทั้งหมดด้วย
ฟาร์มคูชิมะอาโออิยังค่อนข้างพิถีพิถันเป็นพิเศษในเรื่องการเก็บรักษามันเทศ โดยทั่วไปจะปลูกมันเทศในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม จากนั้นจะเก็บเกี่ยวตลอดเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน จากนั้นมันเทศจะถูกบ่มในโรงเก็บเพื่อให้มันเทศทำการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ฟาร์มคูชิมะอาโออิได้สร้างโรงเก็บและบ่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศในปี 2016 "เมื่อคุณบ่มมันเทศ จะเป็นการกระตุ้นคุณสมบัติในการรักษาตัวเอง" คุณนาราซาโกะกล่าว "การปล่อยมันฝรั่งไว้ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้นในชั่วขณะหนึ่ง จะทำให้เกิดชั้นเปลือกหนาขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการเก็บเกี่ยว ทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน"

ชั้นเปลือกหนาที่เกือบจะเหมือนกันกับ "การตกสะเก็ด" ของมนุษย์ ก่อตัวขึ้นที่ผิวของมันเทศหลังจากสัมผัสกับอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสและความชื้น 100 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 100 ชั่วโมง โรงเก็บและบ่มมีความจุ 250 ตัน
จากนั้นมันฝรั่งจะถูกย้ายไปยังสถานที่จัดเก็บซึ่งควบคุมอุณหภูมิที่ 13-15 องศาเซลเซียสและความชื้น 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะถูกบ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือนก่อนที่จะส่งออกตามลำดับ สถานที่จัดส่งเป็นร้านแบบครบวงจรสำหรับการล้าง ทำให้แห้ง และบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถจัดส่งได้ 20 ตันต่อวัน

ล้างมันเทศอย่างหยาบ ๆ ในถังน้ำขนาดใหญ่ที่สถานีล้างเพื่อกำจัดดินส่วนใหญ่ที่ยังเหลือติดอยู่ จากนั้นพนักงานจะตรวจสอบมันเทศแต่ละลูกก่อนที่จะส่งลงบนสายพานไปยังเครื่องล้าง
ฟาร์มคูชิมะอาโออิค่อย ๆ เพิ่มจำนวนพันธุ์มันเทศที่สามารถรองรับได้ตามคำขอจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกอื่น ๆ ในปัจจุบันมีความสามารถในการจัดการพันธุ์มันเทศได้อย่างหลากหลายรวมถึงพันธุ์มิยาซากิเบนิ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของฟาร์ม นอกจากนี้ ยังสามารถแยกแยะความแตกต่างของมันเทศผ่านการตั้งชื่อและกำหนดแบรนด์อันเป็นเอกลักษณ์
คุณนาราซาโกะกล่าวว่าในปัจจุบันบริษัทจัดการอยู่กับ 5 สายพันธุ์หลัก มิยาซากิเบนิ มีผิวสีม่วงและเนื้อสีเหลือง มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มและร่วนจึงเหมาะสำหรับการอบและการทำเท็มปูระ และยังมี เบนิฮารูกะ ซึ่งดูเหมือนว่าได้รับกระแสความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผิวสีม่วงและเนื้อสีเหลืองเช่นเดียวกัน แต่มีเนื้อสัมผัสที่เหนียวกว่าและหวานกว่ามาก จึงเหมาะสำหรับการอบเป็นอย่างยิ่ง แรงผลักดันอีกประการหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความนิยมของมันเทศอบ คือ พันธุ์อันโน มีผิวเป็นสีส้มอ่อน เนื้อเป็นสีส้ม โดยมีเนื้อเหนียวและหวาน ถัดมา คือ มันเทศเส้นไหม (Silk Sweet potato) มีผิวสีม่วงและเนื้อสีเหลือง เมื่ออบแล้วเนื้อจะเนียนนุ่มเหมือนเส้นไหมจนสามารถรับประทานได้ด้วยช้อน ไม่หวานจนเกินไป ดังนั้นจึงสามารถลิ้มรสความอร่อยได้ทุกเพศทุกวัย ท้ายที่สุด คือ ถนนสายหวานสีม่วง (Purple Sweet Road) จะสีม่วงทั้งด้านในและด้านนอก และหวานสดชื่น อุดมไปด้วยแอนโทไซยานินซึ่งกำลังได้รับความสนใจในวงการเครื่องสำอาง

มันเทศ 5 สายพันธุ์ในตะกร้า เริ่มจากด้านหลังตามเข็มนาฬิกา : ถนนสายหวานสีม่วง (Purple Sweet Road), อันโน, มิยาซากิเบนิ, มันเทศเส้นไหม (Silk Sweet) และเบนิฮารูกะ ลิ้มลองให้ครบทั้งหมดเพื่อเปรียบเทียบรสชาติและเนื้อสัมผัส
เมื่อไม่นานมานี้ ฟาร์มคูชิมะอาโออิได้ผลิตพันธุ์เบนิมาซาริอย่างจริงจัง เกิดการระบาดของโรคในมันเทศเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งไม่มีวิธีรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แต่บริษัทได้ค้นพบพันธุ์ที่สามารถต้านทานโรคนี้ได้จากการได้ลองผิดลองถูก พันธุ์ใหม่นี้โดดเด่นด้วยเนื้อสัมผัสที่นุ่มนวลและความหวานที่ละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตาม คุณนาราซาโกะกล่าวว่าการที่สามารถต้านทานโรคบางอย่างได้ในตอนนี้ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้านทานโรคต่อไปในอนาคตจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมิยาซากิเพื่อพัฒนาพันธุ์ให้สามารถต้านทานโรคได้มากขึ้น

เบนิมาซาริเป็นพันธุ์แม่ของมันเทศเส้นไหม คุณนาราซาโกะกล่าวว่ามีเนื้อสัมผัสและความหวานที่คล้ายคลึงกันเมื่อเทียบกับมันเทศเส้นไหม แต่จะมีสีเหลืองอำพันที่สวยงามเมื่อทำการอบและบดให้ละเอียด
ฟาร์มคูชิมะอาโออิมีความกระตือรือร้นที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศมาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้ง และได้ทำการส่งเสริมรสชาติความอร่อยของมันเทศญี่ปุ่นไปอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันเน้นการส่งออกไปยังประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งในแต่ละประเทศต่างก็มีรสชาติพิเศษที่ชอบเป็นของตัวเอง
คุณนาราซาโกะกล่าวว่ามันเทศไต้หวันมีลักษณะกลมและมีเนื้อเหนียวด้านใน ดังนั้นพันธุ์มิยาซากิเบนิที่เรียวยาวและร่วนจึงเป็นที่นิยมอย่างมาก นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่าโดยปกติแล้วในวัฒนธรรมเอเชียจะนำมันเทศไปนึ่ง แต่ในปัจจุบันนี้มันเทศอบกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สำหรับพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คุณนาราซาโกะบอกเราว่า "ส่วนใหญ่ทุกพันธุ์เป็นที่นิยมในฮ่องกงและสิงคโปร์ ในขณะที่พันธุ์เบนิฮารูกะที่มีขนาดใหญ่เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทยและมาเลเซีย แต่ไม่ว่าเราจะส่งออกไปประเทศไหน ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเทศญี่ปุ่นหวานและอร่อยที่สุด"
คุณนาราซาโกะได้รับประทานมันเทศจากทั่วทุกมุมโลกอย่างตรงไปตรงมาและแม้เขาจะเห็นด้วยว่ามันเทศต่างประเทศไม่หวานมาก ดังนั้นเขาจึงเข้าใจได้ว่าทำไมมันเทศญี่ปุ่นถึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แน่นอนว่าเป็นผลมาจากการใช้เวลาหลายปีของชาวญี่ปุ่นในการพัฒนาสายพันธุ์ รวมถึงเทคนิคการบ่มที่ได้รับการฝึกฝนขัดเกลาและทำให้สมบูรณ์แบบโดยผู้ผลิตอย่างฟาร์มคูชิมะอาโออิ

บรรจุภัณฑ์ของมันเทศเบนิฮารูกะขนาดเล็กในซูเปอร์มาร์เก็ตของฮ่องกง ใบหน้าของหญิงสาวบนบรรจุภัณฑ์ คือ "อาโออิจัง (Aoi-chan)" มาสคอตของบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก
แน่นอนว่ามันเทศสามารถนำไปนึ่งหรืออบได้อย่างง่าย ๆ แต่ถ้านำไปใส่ในซุปมิโสะซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย ก็อร่อยเช่นกัน เพียงหั่นมันเทศเป็นชิ้นครึ่งเสี้ยวโดยยังมีผิวติดอยู่ นำไปแช่ในน้ำ 10 นาทีเพื่อขจัดสิ่งสกปรก จากนั้นเคี่ยวในน้ำซุปจนเสียบด้วยไม้ได้ง่าย สุดท้ายทำการละลายเครื่องมิโสะสำเร็จรูปลงในน้ำซุปและปรุงรสตามใจชอบ

ซุปมิโสะมันเทศญี่ปุ่นเมนูแนะนำโดยคุณนาราซาโกะ คุณยังสามารถเพิ่มหัวหอมฝานบาง หรือ ผักกาดขาว กะหล่ำปลีชิ้นพอดีคำลงในซุปมิโสะเพื่อช่วยดึงความหวานตามธรรมชาติของมันเทศออกมา
เท็มปูระมันเทศเป็นที่นิยมและสามารถจัดเตรียมด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมโดยการชุบแป้งผสมและนำไปทอด แต่มันเทศอบแช่แข็งก็กลายมาเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นในปัจจุบันเช่นกัน ฟาร์มคูชิมะอาโออิได้สร้างสรรค์กลุ่มผลิตภัณฑ์ของต้วเองและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงฤดูร้อน เนื้อสัมผัสของมันเทศอบจะกลมกล่อมมากเมื่อแช่เย็นและนำมาละลาย และทำเป็นของหวานที่น่าพึงใจ คุณยังสามารถหั่นซอยมันเทศเป็นชิ้นและเสิร์ฟพร้อมไอศกรีมเพื่อประสบการณ์ที่หรูหรายิ่งขึ้น
คุณนาราซาโกะกล่าวว่าบริษัทจะยังคงส่งออกมันเทศสดต่อไปแต่ก็จะมุ่งเน้นไปที่การส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปด้วย ด้วยความหวังที่ว่าผู้คนจะสามารถเพลิดเพลินไปกับรสชาติที่แตกต่างกันของมันเทศ

"เดซะ โปเตะ (Deza Pote)" ซึ่งส่งออกไปยังอเมริกาทวีปเหนือ เป็นผลิตภัณฑ์มันเทศแช่แข็งแบบเฟรนช์ฟรายทอด สามารถละลายน้ำแข็งและรับประทานได้เลย หรืออุ่นในไมโครเวฟก็ได้
ฟาร์มคูชิมะอาโออิยังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดขยะที่เป็นอาหาร บริษัทร่วมมือกับผู้ผลิตวัสดุเพื่อพัฒนาฟิล์มป้องกันการควบแน่นที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อปกป้องผลิตภัณฑ์จากการควบแน่นระหว่างการส่งออกสินค้าซึ่งช่วยลดเชื้อราและการเน่าเสียของอาหาร ส่งผลให้ปริมาณขยะที่เป็นอาหารลดลงอย่างมาก บริษัทยังใช้มันเทศที่มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ขนมหวาน และในอนาคตบริษัทหวังว่าจะใช้ส่วนเถาของลำต้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อพัฒนาอาหารเสริมและยังสร้างพลังงานชีวมวลจากมันฝรั่งที่เกิดความเสียหายอีกด้วย

พนักงานกำลังทำการปลูกต้นกล้า บริษัทเคยกำจัดวัสดุคลุมดินแบบแผ่นเพื่อป้องกันโรคแต่ในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนมาใช้วัสดุคลุมดินที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งจะย่อยสลายลงไปในดินเพื่อพยายามบรรลุเป้าหมาย SDG
คุณนาราซาโกะกล่าวว่า "ผมอยากให้ผู้คนที่สามารถเพลิดเพลินกับมันเทศญี่ปุ่นแสนอร่อยมีจำนวนมากขึ้น ๆ ผมไม่ได้ต้องการเพียงแค่ส่งออกไปต่างประเทศ แต่อยากมองถึงการผลิตในท้องถิ่นด้วย ผมอยากให้คนในท้องถิ่นได้ลิ้มรสอร่อยของมันเทศด้วย” ความหวานที่สัมผัสได้จากการกัดเพียงคำเดียวจะต้องสร้างรอยยิ้มให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างแน่นอน
◎คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรอาหารที่ใช้มันเทศญี่ปุ่น
ซุปมิโสะใส่หมูและผัก
ซุปมันเทศและชิราทามะ
ข้อมูลอ้างอิง : สภาส่งเสริมการส่งออกผักและผลไม้ญี่ปุ่น (Japan Fruit and Vegetables Export Promotion Council)
อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย: ฟาร์มคูชิมะอาโออิ
บทความโดย : ยูกิโกะ ทากาเสะ
คุณมาโกโตะ อิเกดะ เป็นชาวไร่มันเทศรุ่นที่ 4 ด้วยความหวังที่จะเป็นเกษตรกรที่พึ่งพาตนเองได้ เขาจึงก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2013 ปัจจุบันบริษัทเติบโตขึ้นจนมีพนักงาน 111 คน รวมถึงพนักงานพาร์ทไทม์และมีสัญญากับเกษตรกร 230 ราย ด้วยยอดขายรวม 1.923 พันล้านเยนและจัดการผลผลิตได้ 8,200 ตันในปีงบประมาณ 2022 บริษัทจึงเป็นหนึ่งในบริษัทเกษตรชั้นนำของญี่ปุ่น บริษัทได้ส่งออกไปยังฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียนับตั้งแต่ก่อตั้ง และหวังว่าจะขยายไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือในอนาคต
https://aoifarm-gr.com/